weekend-logo
Image

Weekend Walk ลัดเลาะ ‘สามแพร่ง-เฟื่องนคร’

18 เมษายน 2568

‘ชุมชนสามแพร่ง’ ที่ประกอบด้วย แพร่งนรา แพร่งสรรพศาสตร์ และแพร่งภูธร คือชุมชนเก่าแก่ที่ถือกำเนิดขึ้นราวสมัยรัชกาลที่ 5 บนพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของวัง ที่พักข้าราชการ ข้าราชพริพาร และช่างฝีมือ และค่อยๆ แปรเปลี่ยนไปเป็นย่านเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญในยุคนั้นหลังจากมีการสร้างถนนและตึกแถวสำหรับค้าขาย

แพร่งนรา แพร่งสรรพศาสตร์ และแพร่งภูธรก็เป็นถนนตัดใหม่ในยุคนั้นเพื่อเชื่อมถนนตะนาวและถนนอัษฎางค์โดยเป็นการตัดถนนผ่านวังของพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 3 พระองค์ จึงตั้งชื่อถนนตามพระนาม ซึ่งคำว่า ‘แพร่ง’ แปลว่า ทางแยกทางบก

ปัจจุบันชุมชนสามแพร่งคือย่านที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมที่ชาวชุมชนพยายามอนุรักษ์ให้คงอยู่ต่อไป รวมถึงยังคงเป็นย่านที่ขึ้นชื่อเรื่องของอร่อยทั้งคาวและหวานที่ทุกคนให้การยอมรับและบอกต่อกันจนถึงทุกวันนี้

Weekend Walk ครั้งนี้ เราเลยอยากชวนทุกคนนั่งไทม์แมชชีนกลับไปสู่สมัยรัชกาลที่ 5 ผ่านการเดินชมสถาปัตยกรรมเก่าแก่และการลิ้มรสของกินขึ้นชื่อในย่านสามแพร่งและเฟื่องนครไปด้วยกัน


ศาลเจ้าพ่อเสือ เสาชิงช้า

ในกรุงเทพฯ มีศาลเจ้าพ่อเสืออยู่หลายแห่ง แต่ที่ถนนตะนาวน่าจะเป็นศาลเจ้าพ่อเสือที่เก่าแก่ที่สุดโดยมีประวัติว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เดิมทีตั้งอยู่ที่ถนนบำรุงเมืองแล้วค่อยย้ายมาอยู่ที่ทางสามแพร่ง ถนนตะนาว หลังการขยายถนนบำรุงเมืองในสมัยรัชกาลที่ 5 และได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ. 2531

ศาลเจ้าพ่อเสือเป็นศาลเจ้าตามความเชื่อของชาวไทยเชื้อสายจีน อาคารศาลเจ้าถูกสร้างตามรูปแบบศาลเจ้าที่นิยมทางภาคใต้ของจีน ด้านในมีองค์เทพ ‘ตั่วเหล่าเอี้ย’ เป็นเทพเจ้าองค์ประธาน ซึ่งคนมักมาไหว้เพื่อขอพรในหลายเรื่อง ตั้งแต่การงาน การเงิน โชคลาภ เสริมอำนาจบารมี สะเดาะเคราะห์แก้ปีชง ไปจนถึงขอให้มีลูก

ชาวชุมชนคลองคูเมืองเดิมหรือชาวสามแพร่งและเสาชิงช้าให้ความเคารพนับถือศาลเจ้าพ่อเสือมาก ในช่วงเทศกาลกินเจของทุกๆ ปี ชาวบ้านจะจัดพิธีแห่ศาลเจ้าพ่อเสือ เสาชิงช้า ซึ่งเป็นการแห่เกี้ยวเทพเจ้าทุกองค์ในศาลเจ้ารวมนับสิบหลัง ปิดท้ายด้วยเกี้ยวองค์ประทาน โดยมีความเชื่อว่าศิษย์เจ้าพ่อเสือที่ได้ทำหน้าที่แบกเกี้ยวในแต่ละปีจะประสบกับความโชคดี

ศาลเจ้าพ่อเสือ เสาชิงช้า เปิดให้สักการะทุกวัน 06:00-17:0

ศาลเจ้าพ่อเสือ เสาชิงช้า ถนนตะนาว


สามแพร่ง เฟื่องนคร

ไหว้ศาลเจ้าพ่อเสือเสร็จแล้ว เดินตามถนนตะนาวมาทางสามแพร่งไม่กี่ก้าวก็จะพบกับซุ้มประตูที่คนไม่รู้จักอาจจะมองว่าดูไม่เข้ากับอะไรรอบข้างเลยสักอย่างแต่ดูสวยดีและต้องมีประวัติน่าสนใจแน่ๆ

ซุ้มประตูแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2444 มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบยุโรปที่นิยมกันในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ในอดีตเคยเป็นซุ้มประตูวังสรรพสาตรศุภกิจ แต่หลังจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2462 วังก็ถูกขายให้เอกชนและถูกรื้อถอนเพื่อสร้างอาคารพาณิชย์ เหลือเพียงซุ้มประตูวังที่ตั้งอยู่บริเวณปลายถนนแพร่งสรรพศาสตร์บรรจบกับถนนตะนาว

ในปี พ.ศ. 2519 สำนักผังเมืองได้ร่วมกับกรมศิลปากร สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการปรับปรุงซุ้มประตูวังสรรพสาตรศุภกิจ ทำให้ยังอยู่ในสภาพดีจนถึงปัจจุบันและกลายเหมือนแลนด์มาร์กของย่านนี้

ซุ้มประตูวังสรรพสาตรศุภกิจ
แพร่งสรรพศาสตร์

P.Space

จากซุ้มประตูวังสรรพสาตรศุภกิจเราจะพาเดินเข้าสู่แพร่งนรา ไปทำความรู้จักกับ P.Space ซึ่งเป็น multi-purpose space ที่เจ้าของมีใจรักศิลปะและต้องการสร้างคอมมูนิตีศิลปะในย่านนี้เพื่อให้ผู้คนเข้าถึงศิลปะได้ง่ายขึ้น นอกจากจะมีร้านกาแฟเล็กๆ แล้วจึงเปิดพื้นที่ทั้ง 2 ชั้นของร้านเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ที่เปิดรับกิจกรรมสร้างสรรค์ทุกรูปแบบ

ชั้นล่างของ P.Space เหมาะกับการจัดแสดงงานศิลปะหรือกิจกรรมรูปแบบอื่นที่ใช้ระยะเวลานาน ส่วนชั้นบนจะเหมาะกับกิจกรรมแบบวันเดียวจบ เช่น คลาสสอนโยคะ, เวิร์กช็อปต่างๆ ใครมีโปรเจกต์ดีๆ แต่ยังหาสถานที่ไม่ได้ลองแวะมาดู (มาชิมกาแฟ) ที่นี่ได้

P.Space เปิด 13:00-18:00 (ปิดวันพุธ)
P.Space แพร่งนรา

ย่งเซ่งหลี

ร้านแรกที่เราชวนแวะฝากท้องคือ ‘ย่งเซ่งหลี’ ร้านสุกี้โบราณสูตรไหหลำที่ตั้งอยู่ปลายถนนแพร่งนราบรรจบกับถนนอัษฎางค์ ร้านนี้เปิดมา 97 ปีแล้ว เริ่มจากกิจการร้านชาในรุ่นแรก และเปลี่ยนไปขายอย่างอื่นทั้งอาหารสไตล์เหลา ข้าวราดแกง ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋น จนปัจจุบันอยู่ในมือทายาทรุ่นที่ 4 จึงนำสูตรสุกี้ของครอบครัวที่เคยทำขายในรุ่นที่ 2 มาปรับรสชาติให้ถูกปากคนยุคนี้จนขายดิบขายดี

สุกี้สูตรไหหลำแตกต่างจากสูตรกวางตุ้งตรงน้ำหรือน้ำจิ้มที่ใส่เต้าหู้ยี้ลงไปเพิ่มความเข้มข้น จานเด็ดของร้านคือ ‘สุกี้โกหม่าย’ ซึ่งเป็นสุกี้แห้งที่ตอกใข่ผสมกับซอส ตีให้เข้ากันแล้วนำไปผัดกับส่วนผสมอื่นๆ ในกระทะ วิธีนี้จะทำให้ซอสเคลือบเส้นได้ดีกว่า เสร็จแล้วก็เสิร์ฟคู่กับไข่ดาว สูตรนี้คุณอาของเจ้าของร้านคนปัจจุบันเป็นคนคิด

ย่งเซ่งหลี เปิดวันจันทร์-เสาร์ 09:00-16:00
ย่งเซ่งหลี แพร่งนรา


ถ้ายังไม่อิ่มเราไปต่อกันที่ร้านเด็ดประจำแพร่งภูธรอย่าง ‘เจ๊เพ็ญก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นแคะหมูตุ๋น’ เป็นก๋วยเตี๋ยวแคะสูตรดั้งเดิมที่ส่งต่อความอร่อยมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าที่มีเชื้อสายจีนแคะซึ่งย้ายจากสิงคโปร์มาตั้งรกรากที่แพร่งภูธร

ความอร่อยของก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นแคะหมูตุ๋นร้านนี้อยู่ที่ลูกชิ้น 5 อย่างที่เจ้าของร้านทำเองทุกวัน มีลูกชิ้นปลา, ลูกชิ้นหมูทอด, ลูกชิ้นหมูลวก, ลูกชิ้นไชเท้านึ่ง และเต้าหู้ยัดไส้ รวมถึงน้ำซุปใสๆ มีรสชาติอมหวานนิดๆ จากการต้มกระดูกหมูรวมกับลูกชิ้นต่างๆ จนอร่อยแบบไม่ใส่ผงชูรส

เจ๊เพ็ญก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นแคะหมูตุ๋น เปิดวันจันทร์-เสาร์ 09:00-16:00
เจ๊เพ็ญก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นแคะหมูตุ๋น แพร่งภูธร

ยังคงอยู่ที่แพร่งภูธร แต่คราวนี้เป็นเปลี่ยนจากของคาวไปชิมของหวานกันบ้าง ซึ่งร้านดังในย่านนี้ใครๆ ก็บอกว่าต้อง ‘นัฐพร ไอศครีมรสไทย’ เท่านั้น

นัฐพร คือร้านไอศกรีมเล็กๆ ในตึกแถวเก่าอยู่คู่แพร่งภูธรมานานถึง 74 ปี เมื่อก่อนชื่อร้าน ‘ไอติมแพร่งภูธร’ แต่พอ ‘คุณนัฐพร รุ่งโรจน์สุวรรณ’ เจ้าของร้านคนปัจจุบันซึ่งเป็นรุ่นที่ 3 เข้ามารับช่วงต่อจึงเปลี่ยนชื่อเป็น ‘นัฐพร ไอศครีมรสไทย’

ไอศกรีมรสชาติที่ขายดีตลอดกาลก็คือ ‘รสกะทิสด’ ซึ่งกะทิต้องมาจากมะพร้าวอย่างดีจากทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เท่านั้นถึงจะได้ไอศกรีมรสชาติหวานมันและกลิ่นหอมที่ใครได้ชิมก็ติดใจ และที่ร้านยังมีเครื่องเคียงหลายอย่างให้เลือกใส่ในไอศกรีมเพื่อเพิ่มรสชาติ เช่น เผือก ข้าวโพด ถั่วลิสง ลูกชิด ลูกเดือย ถั่วแดง และข้าวเหนียว

นัฐพร ไอศครีมรสไทย เปิดวันจันทร์-เสาร์ 09:00-17:00
นัฐพร ไอศครีมรสไทย แพร่งภูธร


ต่อด้วยกาแฟหอมๆ สักแก้วที่ Craftsman Roastery ร้านกาแฟเจ้าดังที่เคยแวะมาเปิดร้านป็อปอัปในโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจอยู่ช่วงหนึ่ง กลับมาสู่ย่านนี้อีกครั้งพร้อมสาขาใหม่ซึ่งเป็นสาขาที่ 2 ในย่านเมืองเก่า

ตึกแถว 2 ชั้น 1 คูหาอายุกว่าร้อยปีที่สันนิษฐานว่าถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถูกปรับปรุงให้เป็น Craftsman Roastery สาขาใหม่โดยให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเก่าควบคู่กันไปด้วย และยังเลือกตกแต่งร้านด้วยเฟอร์นิเจอร์ที่สีและวัสดุกลมกลืนไปกับร่องรอยกาลเวลาของอาคาร

สำหรับกาแฟที่สาขานี้ก็ยังคงเป็น Specialty Coffee ที่ใช้เมล็ดกาแฟจากโรงคั่ว Craftsman Roastery และมีเมล็ดกาแฟคั่วกลางเบลนด์พิเศษชื่อ Old Town Blend ที่เสิร์ฟเฉพาะสาขานี้เท่านั้น

Craftsman Roastery at Old Town เปิดทุกวัน 07:30-17:00

Craftsman Roastery at Old Town ถนนบำรุงเมือง


The Knight House Bangkok

ถนนบำรุงเมือง

เดินข้ามถนนแพร่งภูธรมาฝั่งตรงข้ามจะเจอกับ The Knight House Bangkok ที่พักแบบ VIP Homestay ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสมบัติของ ‘เจ้าจอมมารดาชุ่ม’ ในรัชกาลที่ 5 ก่อนจะผลัดกันชมเรื่อยมาจนปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของครอบครัว ‘มน-ชุติมน วิจิตรทฤษฎี’ หรือ Mon Monik และเคยเปิดเป็นร้านทำผมของคุณแม่ ก่อนที่มนจะเข้ามาปรับปรุงครั้งใหญ่ให้กลายที่พักอย่างในปัจุบัน

“อาคารหญิงไทยแต่งแหม่ม” คือชื่อที่เจ้าของเรียกอาคารหลังนี้ตามรายละเอียดการตกแต่งทั้งภายนอกและภายในที่ผสมผสานระหว่างกลิ่นอายของบ้านไทยโบราณและตึกโคโลเนียลได้อย่างลงตัว เปรียบเปรยว่าเป็นหญิงไทยที่ถูกจับแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างสาวฝรั่ง

The Knight House Bangkok สูง 3 ชั้น ชั้นแรกคือล็อบบี้และคาเฟ่ และอีก 2 ชั้นที่เหลือจะเป็นส่วนของห้องพักซึ่งมีเพียงชั้นละ 1 ห้อง รวมเป็น 2 ห้องพักเท่านั้น (VIP ของจริง)
The Knight House Bangkok ถนนบำรุงเมือง


ข้าวเหนียว ก.พาณิช

ถนนตะนาว

ก่อนไปถึงถนนเฟื่องนคร มีร้านดังอีกหนึ่งร้านบนถนนตะนาวที่ไม่แวะไม่ได้จริงๆ นั่นก็คือร้าน ‘ข้าวเหนียว ก.พาณิช’ ร้านข้าวเหนียวมูนที่เปิดมายาวนานถึง 97 ปี การันตีคุณภาพด้วยรางวัลบิบ กูร์มองด์ จากมิชลิน ไกด์ ประเทศไทย

ข้าวเหนียวมูน ก.พาณิช เป็นสูตรที่สืบทอดมาจากอดีตลูกมือห้องเครื่องในวังสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ทั้งหอมทั้งนุ่ม รสชาติหวานมันกลมกล่อม เพราะเลือกใช้วัตถุดิบจากแหล่งคุณภาพ เช่น ข้าวเหนียวเขี้ยวงูจากอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเมล็ดข้าวจะเรียวเล็กเมื่อนำมามูนแล้วจะดูน่ากินและไม่มีข้าวเจ้าปน ส่วนกะทิทำจากมะพร้าวชุมพรโดยเลือกลูกที่แก่จัด ไม่มีจาว น้ำตาลก็ต้องเมืองกาญจน์และเกลือไอโอดีนจากสมุทรสาคร

ที่ร้านขายข้าวเหนียวมูนเป็นหลักคู่กับข้าวเหนียวมะม่วงและขนมไทยอื่นๆ ที่ก็อร่อยไม่แพ้กัน เช่น ข้าวเหนียวหน้ากุ้ง, ขนมกล้วย, ข้าวเหนียวตัด, ขนมผิง, ขนมปังกระเทียมอบเนย, ทองม้วน, ข้าวต้มผัด, ท็อฟฟี่โบราณ, ขนมผิง ฯลฯ และมีแม่ค้ามาตั้งแผงขายมะม่วงหน้าร้านเป็นประจำ ใครอยากกินข้าวเหนียวมะม่วงแบบจุใจก็ซื้อข้าวเหนียวมูนเป็นกิโลฯ มะม่วงสุกอีกกิโลฯ กลับบ้านไปเลย เพราะข้าวเหนียวมูน ก.พาณิช สามารถเก็บที่อุณหภูมิห้องได้ 3 วันโดยไม่เสีย

ข้าวเหนียว ก.พาณิช เปิดวันจันทร์-เสาร์ 07:00-18:00
ข้าวเหนียว ก.พาณิช ถนนตะนาว


ได้ข้าวเหนียวมูนกับมะม่วงติดไม้ติดมือกันแล้วก็มุ่งหน้ามายัง ‘ถนนเฟื่องนคร’ ซึ่งจะพาเราไปพบกับร้านอร่อยที่จองยากระดับตำนานอย่าง ‘บ้านนวล’ ร้านอาหารไทยพื้นบ้านแบบโฮมคุกกิ้งที่ย้ายจากใต้ถุนบ้านย่านสามเสน มาอยู่ที่ตึก 2 คูหาบนถนนเฟื่องนครเมื่อปีที่แล้วให้ผู้มีวาสนาที่จองทันได้ตามมาชิมอาหารไทยรสมือของ 2 พี่น้องอย่าง ‘ทอมมี่-สิทธิศักดิ์’ และ ‘ยุ-ยุวรัตน์ สาครสินธุ์’ ในบรรยากาศใหม่ๆ ที่กว้างขึ้นและติดแอร์เย็นฉ่ำ แถมยังอยู่ใกล้ตลาดตรอกหม้อที่เป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญของที่ร้าน

บ้านนวล ถนนเฟื่องนคร


ถัดมาอีกไม่ถึงร้อยเมตรจะเจอร้าน IM En Ville ซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า ‘ฉันอยู่ในเมือง’ ส่วนชื่อไทยของร้านคือ ‘อิ่มในเมือง’ จะเป็นการเล่นคำพ้องระหว่างคำว่า IM กับคำว่า ‘อิ่ม’ เป็นคำความหมายดีๆ ที่จะแปลว่าอิ่มท้องและอิ่มอกอิ่มใจก็ได้

ร้านอาหารและคาเฟ่แห่งนี้อยู่ในตึกเก่าอายุกว่า 150 ปีซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นโรงพิมพ์ เมื่อถูกปรับมาเป็นร้านอาหารและคาเฟ่ด้วยความตั้งใจที่อยากเก็บเรื่องราวของตึกนี้ไว้ให้อยู่คู่กัน ภายในร้านจึงมีทั้งความเก่าและใหม่ ความคลาสสิกและโมเดิร์นคละๆ กันไป

พื้นที่ชั้นแรกเป็นคาเฟ่ที่เสิร์ฟเครื่องดื่ม เบเกอรี และอาหารจานด่วน ไฮไลต์คือกระจกใสบานใหญ่ที่มอบวิววัดราชบพิตรฯ และถนนเฟื่องนครเป็นฉากหลังสุดอลังการ ส่วนชั้นสองจะเป็นโซนร้านอาหารที่เสิร์ฟอาหารฟิวชั่น

IM En Ville เปิด 09:00-21:00 (ปิดวันพุธ), เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ปิด 22:00

IM En Ville ถนนเฟื่องนคร


อิ่มอกอิ่มใจจากอิ่มในเมืองแล้ว มาอิ่มความรู้กันต่อได้ที่ ‘ร้านสวนเงินมีมา’ ของสำนักพิมพ์ชื่อเดียวกัน ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ทางเลือกที่พิมพ์และขายหนังสือควบคู่กับทำกิจกรรมขับเคลื่อนสังคมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ด้วยความเชื่อมั่นว่าทุกคนสามารถช่วยกันเปลี่ยนแปลงโลกให้น่าอยู่กว่านี้ได้

ร้านหนังสือแห่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่สวนเงินมีมาใช้สื่อสารกับทุกคนผ่านเรื่องราวนอกกระแสที่ซ่อนอยู่ในหนังสือหลากหลายประเภทและกิจกรรมดีๆ สำหรับนักอ่านที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ภายในร้านยังมีโซนคาเฟ่ที่นำเสนอเมนูสุขภาพและมุมสินค้าที่คัดสรรจากผู้ผลิตรายย่อยและชุมชนมาให้เราได้อุดหนุนด้วย

ร้านสวนเงินมีมา เปิดทุกวัน 09:00-17:00
ร้านหนังสือสวนเงินมีมา ถนนเฟื่องนคร


เราจะผ่านถนนเฟื่องนครโดยไม่แวะเข้าวัดเข้าวากันได้ยังไง ซึ่งวัดสำคัญบนถนนเก่าแก่สายนี้ก็คือ ‘วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร’ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 มี ‘พระพุทธอังคีรส’ เป็นพระประธานในพระอุโบสถ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิที่หล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อต้นรัชกาลที่ 5 ด้วยสำริดและเป็นศิลปะรัตนโกสินทร์

ลักษณะพิเศษของวัดคือไม่มีหอไตร และเป็นวัดที่มีการจัดวางแผนผังอย่างเป็นระเบียบและประดับประดาอย่างวิจิตรบรรจงโดยเฉพาะรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมที่อยู่ตามพระอุโบสถ พระวิหาร พระเจดีย์ พระระเบียงหรือพระวิหารคต วิหารทิศหรือวิหารมุข ศาลาราย หอระฆังและหอกลอง เกยและพลับพลาเปลื้องเครื่อง และสุสานหลวง

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เปิดทุกวัน 06:00-18:00
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ถนนเฟื่องนคร

ตบท้ายเรื่องของกินด้วย ‘ยี่สับหลก’ อีกหนึ่งร้านดังอยู่ปลายถนนเฟื่องนครบรรจบกับถนนเจริญกรุง ซึ่งเป็นสาขาแรกที่ตั้งอยู่ในตึกแถว 2 คูหา ด้านในตกแต่งราวกับยกร้านอาหารจากฮ่องกงมาไว้ที่เจริญกรุง

ยี่สับหลก เป็นภาษาจีนกวางตุ้ง แปลว่า ‘หุงต้มง่าย’ ถึงจะเป็นร้านใหม่ก็จริง แต่องค์ความรู้เรื่องอาหารนั้นต่อยอดมาจากรุ่นพ่ออย่าง ‘ร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อนายโส่ย’ ร้านเก่าแก่บนถนนพระอาทิตย์ ที่แตกไลน์มาเป็นสารพัดเมนูเนื้อ ไม่ว่าจะเป็น อาหารขึ้นชื่ออย่าง เนื้อตุ๋น เอ็นตุ๋นหม้อดิน หรือข้าวเนื้ออบ ข้าวหน้าเนื้อ สเต๊กเนื้อ ชุดหม้อไฟเนื้อ ฯลฯ

ยี่สับหลก เปิดวันอังคาร-อาทิตย์ 11:00-19:00 เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ปิด 21:00
ยี่สับหลก ถนนเจริญกรุง

จุดสุดท้ายชวนแวะพักผ่อนที่ ‘สวนสราญรมย์’ บนถนนเจริญกรุง เดินจากถนนเฟื่องนครมานิดเดียว พื้นที่สีเขียวแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2409 หรือสมัยรัชกาลที่ 4 แต่แล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 ภายในสวนตกแต่งอย่างสวยงามตามรูปแบบตะวันตกโดย Henry Alabaster นักออกแบบสวนชาวอังกฤษ ที่มีอีกหนึ่งบทบาทสำคัญคือเป็นผู้วางรากฐานการทำแผนที่ การสร้างถนน กิจการไปรษณีย์โทรเลข โทรศัพท์ และพิพิธภัณฑ์ในไทย

สวนสราญรมย์มีพื้นที่ 23 ไร่ ภายในมีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจหลายจุด เช่น ศาลาเรือนกระจก ศาลากระโจมแตร ศาลาแปดเหลี่ยม ศาลาเจ้าแม่ตะเคียนทอง ฯลฯ เหมือนกับสวนสาธารณะที่อื่นๆ ในกรุงเทพฯ ช่วงเย็นภายในสวนสราญรมย์จะคึกคักไปด้วยผู้คนที่ออกมาทำกิจกรรมผ่อนคลายต่าง ๆ เช่น ออกกำลังกาย เล่นดนตรี เป็นต้น

สวนสราญรมย์ เปิดทุกวัน 04:30-21:00
สวนสราญรมย์ถนนเจริญกรุง

เรื่อง:

ปฏัก พาโนมัย

Share !

Link Copied!